top of page
  • รูปภาพนักเขียนgpetdum

การถมที่ดินในการสร้างบ้านใหม่ และการกำหนดระดับ



ก่อนจะเริ่มสร้างบ้านใหม่ในที่ดิน หลายๆท่านคงมีประเด็นให้ต้องคิดในเรื่องของการถมดิน เพราะเป็นค่าใช้จ่ายที่สูงไม่น้อยนอกเหนือไปจากงบประมาณการก่อสร้างบ้าน เรื่องนี้นานาจิตตังมากครับ บางท่านคิดว่าถมให้สูงไว้ก่อน เพราะธรรมชาติของดินต่อไปก็ต้องทรุด บางท่านเพื่อต้องการให้บ้านสูงหลีกหนีจากปัญหาน้ำท่วม หรือแม้แต่บางท่านคิดว่าไม่ต้องถมเลย.......ฯลฯ จากประสปการณ์การทำงานที่ผ่านมา ผมขอพูดกลางๆ ไว้ดีกว่าว่า “ถมเท่าที่จำเป็น” ซึ่งจำเป็นเท่าไหร่ ต้องรู้เรื่องเหล่านี้ครับ


1. ปัจจุบันนี้บ้านส่วนใหญ่(ที่เป็นระบบเสา-คาน)พื้นชั้นล่างนั้นวางอยู่บนคาน (on beam) ไม่ใช่วางอยู่บนดิน (on ground) (ดูรูปที่1) เนื่องจากการลงเสาเข็ม-ฐานราก-ตอม่อ-คาน-พื้น นอกจากว่าในบางพื้นที่นั้นดินแข็งจริงๆ และทำบ้านอยูบนดินเลย ถ้าเป็นแบบ on beam (ส่วนใหญ่) หรือจะเป็น on ground แต่อยากให้สูงกว่าเดิม พื้นก็อยู่บนคานอยู่ดี ดังนั้นไม่มีความจำเป็นที่ต้องถมดินในปริมาณมากเลย อย่าลืมว่าดินที่ซื้อมาถมนั้นก็มาจากที่อื่น แม้บ้านเราสูงและมีเงินแต่มันก็ไปทำให้ระบบนิเวศหรือสภาพแวดล้อมที่อื่นๆเปลี่ยนแปลงไป แถมยังเสียตังค์เยอะอีกต่างหาก

รูปที่ 1


2. ต้องรู้จักการกำหนดระดับ (level) ของพื้นบ้านให้เหมาะสม(ดูรูปที่2) โดยปรกติสถาปนิกจะกำหนดระดับพื้นบ้าน (ชั้นล่าง) เทียบกับระดับพื้นอ้างอิง ซึ่งจะเป็นพื้นอะไรก็ได้ แต่โดยส่วนใหญ่จะใช้ระดับถนนภายนอกเป็นพื้นอ้างอิง เรียกว่าความสูง +0.00 โดยพิจารณาว่าบ้านเราควรสูงเท่าไหร่ จากปัจจัยต่างๆ เมื่อเทียบกับถนน แล้วเราค่อยกำหนดระดับถมดินให้ได้ใกล้เคียงกับระดับนั้น แต่ไม่จำเป็นต้องเท่ากับระดับนั้นเลย(ดูข้อ3ต่อไป) การกำหนดระดับนี่สำคัญมาก ต้องคิดเผื่ออนาคต เพราะคงไม่มีใครอยากให้บ้านต่ำกว่าถนน (ถนนหลวงมีแต่สูงขึ้นทุกวันๆ) และประเด็นอื่นๆอีก เช่น ทางลาดของรถยนต์ รั้วบ้าน สวน ฯลฯ


รูปที่ 2

3. ถมดินในระดับที่พอสมควร การถมครั้งนี้เป็นการปรับพื้นที่ให้เรียบร้อยหรือบางที่อาจเป็นที่ลุ่ม น้ำขัง หรือต่ำมากจริงๆ

4. เมื่อทำคานพื้นชั้นล่างเสร็จ แล้วก็ค่อยๆถมโดยรอบ (ดูรูปที่3) ถ้าทำอย่างนี้เราจะประหยัดดินถมไปเยอะมาก เพราะบริเวณที่ตัวบ้านเราตั้งอยู่เราไม่ต้องถม ดินระดับนี้อาจเป็นดินคุณภาพดี หรือหน้าดินเพื่อใช้ในการปลูกต้นไม้ จัดสวนก็ได้ มาถึงประเด็นนี้หลายท่านคงกังวลเรื่องโพรงที่อยู่ใต้บ้าน ซึ่งอาจเป็นที่อยู่ของสัตว์เลื้อยคลาน หรือการทรุดของดินแล้วเป็นโพรง ก็ไม่เป็นไรครับ ถ้าไม่สบายใจก็ขุดและก่อปิดด้านข้างไปเลยครับ การที่มีที่ว่างใต้บ้านจะมีข้อดีคือ ความชื้นจะไม่ขึ้นมาสูพื้นบ้านโดยตรง(พื้นเป็นรา เป็นคราบ) บางที่ก็ปล่อยโล่ง ก่อปิดด้านข้าง และทำตระแกรงระบายอากาศเพื่อระบายความชื้นและกันสัตว์(สังเกตบ้านไทยสมัยก่อนยังยกพื้นสูง อันนี้ก็เป็นอีกประเด็นหนึ่งนอกจากเรื่องน้ำท่วมและพฤติกรรม) หากยังไม่สบายใจและมีงบประมาณก็เอาดินมาใส่ในที่ว่างระหว่างคานคอดินก็ได้ แต่หากบ้านใครใช้เข็มเจาะท่านจะมีดินเพิ่มขึ้นมาอีกเยอะเลยครับ ก็สามารถมาใส่ระหว่างคานใต้พื้นให้เต็มได้.............บางท่านไม่คิดมากลงเข็ม เทคาน ทำพื้น แล้วถมแต่ด้านข้างโดยรอบอย่างเดียว (ประหยัดมาก ถมเท่าที่ต้องถม) ก็มีเยอะไปครับ


รูปที่ 3

…..ประเด็นเรื่องถมที่ดิน เป็นประเด็นที่สำคัญหากไม่พิจารณาให้รอบคอบก่อน แล้วค่อยตัดสินใจ ก็อาจนำมาสูงความสิ้นเปลือง ความเสียหาย เกิดขึ้นตามมา ที่สำคัญมาก คือการกำหนดระดับพื้นบ้านนั้นต้องคิดก่อน ไม่ใช่แค่ความสูงจากถนนอย่างเดียว ยังมีเรื่องอื่นๆที่มีผลกระทบอันเกิดจากการกำหนดระดับพื้น เช่น ของความสูงอาคารรวมที่มีกฏหมายกำหนด(กำหนดชั้นล่างแล้ว ชั้นบนก็กระทบไปด้วย) จำนวนขั้นบันได และความสูงฝ้าเพดานในกรณีที่ต้องไปจำกัดความสูงรวม เนื่องจากพื้นชั้นล่างสูงเกินไป....................สุดท้ายนี้ก็ขอให้มีความสูขกับการสร้างบ้านในฝัน และจะทยอยนำเกร็ดความ(ที่น่าจะ)รู้มาเล่าสู่กันฟัง ผิดพลาดประการใดขออภัยมา ณ ที่นี้ด้วยครับ.......

โพสต์: Blog2_Post
bottom of page