แบบขออนุญาต! แบบก่อสร้าง! แบบพิมพ์เขียว แบบเพื่อประเมินราคา! …..ทำไมมันมีแบบอะไรเต็มไปหมด ท่านที่เคยว่าจ้างสถาปนิกกันมาบ้างแล้วก็คงไม่ติดใจอะไร แต่สำหรับบางท่านที่กำลังคิดจะว่าจ้างสถาปนิกเพื่อมาออกแบบเขียนแบบบ้านของท่าน..บทความนี้จะมาอธิบายเพื่อทำความเข้าใจในการแบ่งย่อยงวดงานโดยการแบ่งงวดการเขียนแบบจัดทำเอกสารเพื่อก่อสร้างของสถาปนิกกันครับ
ก่อนอื่นขออธิบายกี่ยวกับแบบก่อสร้างก่อนนะครับ แบบก่อสร้างในงานสถาปัตยกรรม หรือแบบพิมพ์เขียว (จริงๆเป็นสีฟ้า) ก็คือวิธีการที่สถาปนิก/วิศวกรสรุปเนื้อหาการออกแบบทั้งหมด ถ่ายทอดความคิดหรือวิธีการก่อสร้างอาคารออกมาเป็นเส้นสาย 2 มิติ ลงมาในกระดาษเพื่อให้ผู้ที่เกี่ยวข้องสามารถนำไปใช้ต่ออย่างมีมาตรฐานเดียวกัน ผู้รับเหมา/ช่างก็สามารถนำเอกสารเหล่านี้ไปประมาณราคาและก่อสร้างได้ ทางฝ่ายราชการก็สามารถนำเอาแบบเหล่านี้มาตรวจสอบได้ว่ามีความถูกต้องตามกฏหมาย มั่นคงแข็งแรงหรือไม่ เพื่อออกเอกสารอนุญาตให้ก่อสร้างได้...ทั้งหมดนี้คือแบบก่อสร้างไม่ว่าจะพิมพ์ลงกระดาษอะไร ขนาดเท่าไหร่ …..ทีนี้ก็ตามหัวข้อครับว่า ในเมื่อมันเป็นบ้าน/อาคารหลังเดียวกัน แล้วทำไมจะต้องมาแบ่งเป็น แบบ(เพื่อ)ขออนุญาต (Drawing for Permission) และแบบ(เพื่อ)ก่อสร้าง(Drawing for Construction) ทำไมไม่ทำชุดเดียวกันไปเลย มาแบ่งย่อยไปทำไม มีสาเหตุอันได ขอตอบอย่างนี้
1. จำนวน/ปริมาณของแบบไม่เท่ากัน
แบบขออนุญาตนั้นมีวัตถุประสงค์เพื่อให้หน่วยงานราชการตรวจสอบว่ามีมาตรฐานถูกต้องหรือไม่ มั่นคงแข็งแรงหรือไม่ มีการออกแบบตรงไหนที่ผิดกฏหมายและอาจสร้างความเดือดร้อนให้ส่วนรวมหรือไม่ ซึ่งจริงๆแล้วใช้ปริมาณแบบไม่มากเท่ากับแบบก่อสร้างเพื่อใช้ในการอธิบายให้ก่อสร้างได้ทั้งหมด (พูดง่ายๆ คือ ราชการไม่ได้ดูรายละเอียดปลีกย่อยที่ไม่มีผลกระทบอื่นๆ) ยกตัวอย่างเช่น ราชการจะดูระยะต่างๆของอาคาร รายการคำนวณโครงสร้างว่าถูกต้องหรือไม่ แต่ไม่ได้มาดูว่า หน้าจั่วของบ้านท่านมีรูปแบบรูปทรงเป็นอย่างไร สไตล์ไหน ฉลุลายอะไร ดังนั้นสถาปนิก/วิศวกรจึงทำแบบส่วนหนึ่งที่ยังไม่ใช่แบบทั้งหมด เพื่อใช้ในการขออนุญาตก่อนและในบางครั้งหากมีการทักท้วงแก้ไขว่าแบบที่ใช้ขออนุญาตนั้นไม่ถูกต้อง จะได้ทำการแก้ไขให้ผ่านก่อนที่จะทำแบบก่อสร้างแบบสมบูรณ์จะได้ไม่เสียเวลา โดยแบบขออนุญาตนี้จะต้องมีลายเซ็นผู้ออกแบบกำกับทั้งสถาปนิกและวิศวกร
...ในบางกรณีก็มีเหมือนกันที่ทำแบบขออนุญาตและแบบก่อสร้างเป็นแบบชุดเดียวกันเลย เพราะสถาปนิก/วิศวกรผู้นั้นอาจมีประสปการณ์มาก มั่นใจอยู่แล้วว่าไม่มีอะไรผิดแน่นอนก็ทำเป็นชุดเดียวไปเลย (แต่ถึงอย่างไรราชการก็คัดเอาเฉพาะส่วนที่ต้องการอยู่ดี) คือทำให้เสร็จเลยแล้วคัดออกเป็นบางแผ่นใช้เพื่อขออนุญาต และเอามารวมใหม่ตอนจะใช้เป็นแบบก่อสร้าง
***ส่วนรายการที่ใช้ในการขออนุญาตใช้อะไรบ้างนั้น ผู้เขียนขอยกไปครั้งหน้านะครับ เดี๋ยวจะยาวเกินไป)
2.นอกจากปริมาณแล้ว ขนาดก็อาจจะไม่เท่ากัน
ในข้อกำหนดของทางราชการนั้นแบบแต่ละส่วนจะมีมาตราส่วนกำหนดไว้เพื่อความชัดเจนในการดู เช่น แปลนพื้นต้องมีมาตราส่วนไม่เล็กไปกว่า 1:100 เพราะถ้าเล็กไปกว่านี้อาจจะดูได้ไม่ละเอียด สำหรับบ้านหรืออาคารบางหลังที่มีขนาดใหญ่หรือยาวกว่าปรกติ มาตรส่วน 1:100 นี้จะไม่พอสำหรับพิมพ์ลงในกระดาษขนาด A4-A3 อาจจะต้องเป็น A2 หรือ A1 (ยิ่งอาคารสาธารณะจะใหญ่กว่านั้น) ผู้ออกแบบจึงแยกเฉพาะแบบขออนุญาตออกไป ส่วนแบบก่อสร้างจริงอาจจะย่อลงมาหน่อยเพื่อให้สะดวกต่อการพกพา แจกจ่าย ทำสำเนา และหากตรงไหนไม่ละเอียดพอก็จะต้องทำแบบขยายเพิ่มเติม (แบบก่อสร้างจึงมีปริมาณมากกว่าแบบขอนุญาต) แบบก่อสร้างจะพิมพ์ลงบนกระดาษอะไรก็ได้ตามความสะดวกและเหมาะสม ส่วนแบบขออนุญาตมักจะพิมพ์ลงกระดาษไข(หรือขาวก็ได้) เพื่อนำไปพิมพ์เขียว(Blueprint) ส่งให้ทางราชการเนื่องจากมีความคงทน คงสภาพได้ดีกว่ากระดาษสีขาวธรรมดา เพราะต้องเก็บเข้าระบบเป็นเอกสารราชการต่อไป
3. อยากทราบราคาค่าก่อสร้างเบื้องต้นก่อน
ในบางโครงการเจ้าของบ้านอาจจะยังไม่มีผู้รับเหมาก่อสร้าง และอยากทราบงบประมาณเบื้องต้นก่อน การทำแบบส่วนหนึ่งก่อนเพื่อใช้ในการขออนุญาต และเพื่อใช้ในการประมูลราคาค่าก่อสร้างก็เป็นทางออกที่ดี โดยราคาที่ได้สามารถกำหนดงบประมาณและหาผู้รับเหมาก่อสร้างได้ หากว่าเกินงบประมาณไปก็ค่อยมาปรับลด และหากจะเพิ่มรายลายละเอียดก็สามารถทำได้โดยเพิ่มเติมไปในแบบก่อสร้างขั้นสมบูรณ์ โดยไม่ขัดกับกฏหมายหรือรูปแบบที่ได้ขออนุญาตผ่านไปแล้ว
4.คิดไม่ซื่อ ทั้งตั้งใจและไม่ตั้งใจ
ในข้อนี้จะเป็นเจตนาที่ไม่ค่อยจะสุจริตเท่าไหร่ เกิดขึ้นได้ทั้งจากสถาปนิกผู้ออกแบบ/ผู้รับเหมาก่อสร้าง และเจ้าของบ้านเอง โดยหากตั้งใจก็จะทำแบบขออนุญาตไม่ตรงกับแบบก่อสร้างเลย ซึ่งเมื่อสร้างจริงจะผิดกฏหมาย และอาจมีผลเสียในภายหลังได้ ยกตัวอย่างเช่น ขนาดที่ดินไม่สามารถสร้างบ้านที่กว้างหรือสูงไปกว่านี้ได้แล้ว โดยอาจจะติดระยะร่นหรือปริมาณที่ว่างตามกฏหมาย แต่ด้วยความอยากได้ก็อาจจะทำแบบขออนุญาตตามกฏหมาย แต่พอสร้างจริงนี่คนละเรื่องเลยโดยหากทางราชการไม่ได้เข้ามาตรวจเมื่อเสร็จแล้วอาจจะทำให้บ้านข้างๆได้รับผลกระทบ หรือหากมีการร้องเรียนแล้วทางราชการมาตรวจอาจจะต้องทุบหรือรื้อถอนก็เป็นไปได้และมีมามากแล้ว ในบางกรณีก็มีสาเหตุมาจากการทุจริตคอรับชั่นของทางราชการเองเลยก็มี(คือยอมให้ทำ) ส่วนในกรณีไม่ได้ตั้งใจก็อย่างเช่น ไม่ได้จ้างสถาปนิกหรือจ้างแต่ก็พูดคุยกันไว้แล้ว(สถาปนิกประเภทนี้ต้องระวังให้ดี) หรืออาจจะให้ผู้รับเหมาจัดหาแบบมาให้เพื่อให้ขออนุญาตได้ (หรือแม้แต่ไปขอแบบกับทางราชการที่มีแจกพร้อมขออนุญาต) ด้วยวิธีใดก็แล้วแต่ เมื่อขออนุญาตผ่านแล้ว มาพูดคุยรายละเอียดกับผู้เกี่ยวข้องเพื่อก่อสร้างแล้วพบว่าแบบที่ได้มานั้นไม่ตรงใจ ไม่ชอบ ไม่สอดคล้องกับความต้องการ จึงได้ทำการปรับแบบจนผิดไปจากที่ขออนุญาต หากเล็กน้อยไม่ขัดกับกฏหมายและไม่มีผู้ร้องเรียนก็อาจจะไม่มีปัญหาใด แต่หากเปลี่ยนแบบล้างบางขนานใหญ่นี่อาจจะมีปัญหาได้ครับ
5. สถาปนิกทำแบบไม่ทัน!!
ข้อนี้พบบ่อยในตัวผู้เขียนเอง (Ha..) และในอีกสถาปนิกอีกหลายๆท่าน ทั้งตั้งใจทำไม่ทันและทั้งจากการกำหนดแผนเบิกงวดค่าออกแบบไว้แล้ว ส่วนมากแล้วเกิดจากโครงการออกแบบนั้นมีรายละเอียดปลีกย่อยมาก มีองค์ประกอบบางอย่างยังตัดสินใจไม่ได้ หรืออยากจะเขียนแบบให้ละเอียดในทุกจุดจนช่าง/ผู้รับเหมาไม่ต้องคิดเองเลย เมื่อคุยแนวคิด นำเสนอรูปแบบกับทางเจ้าของบ้านแล้ว ลงมือเขียนแบบส่วนหนึ่งที่ถูกต้องเป็นไปตามที่คุยไว้กับเจ้าของบ้านแล้วจัดทำเป็นแบบขออนุญาต (เบิกงวดค่าแบบด้วย) และมาทำรายละเอียดต่างๆเพิ่มเติมจนเสร็จแล้วนำไปประกอบรวมกันเป็นแบบก่อสร้างขั้นสมบูรณ์ (เบิกค่าแบบอีกงวด) ซึ่งก็เป็นการดีต่อการทำงานทั้งทางการเงินและความละเอียดรอบคอบ เช่น ทำแบบขออนุญาตที่สมบูรณ์ครบถ้วนตามข้อกำหนด แปลน รูปด้าน รูปตัด โครงสร้าง ฯลฯ แต่พอทำแบบก่อสร้างก็อาจจะมีการทำรายละเอียดขยายราวกันตก แบบรายละเอียดการปูกระเบื้องสลับ ฯลฯ ซึ่งแบบขออนุญาตไม่จำเป็นต้องทำ เป็นต้น แต่ถ้าหากเป็นโครงการที่ไม่ใหญ่มาก มีรายละเอียดไม่เยอะ ก็อาจทำแบบเป็นชุดเดียวให้เสร็จเลยใช้ทั้งขออนุญาตและก่อสร้างเลยก็ได้ เพื่อประหยัดเวลาและงบประมาณ ก็ขึ้นอยู่กับการวางแผนของสถาปนิก/นักออกแบบเอง โดยต้องมีการระบุให้ชัดเจนในสัญญาว่าจ้างออกแบบ/เขียนแบบ
และจาก 5 ข้อที่กล่าวมาจะเห็นว่าการที่สถาปนิกออกแบบและเขียนแบบจัดทำเอกสารเป็นสองชุด (แบบขออนุญาตและแบบก่อสร้าง) นั้นมีเหตุปัจจัยจากหลายๆเรื่อง ที่เกี่ยวข้องกับรายละเอียดและข้อตกลงของงาน จริงๆแล้วอาจจะยังมีเหตุผลอื่นๆอีก ซึ่งไม่ว่าจะเหตุผลอันได ซึ่งที่เจ้าของบ้านต้องพิจารณาก็คือ ความซื่อสัตย์ และความเป็นมืออาชีพ โดยการออกแบของสถาปนิกนั้นควรจะอยู่บนพื้นฐานความถูกต้องสอดคล้อง ไม่ขัดกับกฏหมายและงานออกแบบต้องไม่สร้างความเดือดร้อนให้กับสภาพแวดล้อมและผู้คนรอบข้าง การจัดทำแบบไม่ว่าจะแยกหรือไม่แยกแบบก่อสร้างแบบขออนุญาต สุดท้ายแล้วจะต้องไม่ผิดกฏหมาย และสามารถรักษาสัญญาที่ให้กับเจ้าของบ้านได้ เช่น นำเสนอเป็นภาพ 3 มิติ(3D Perspective) ไว้ในตอนแรก เมื่อทำเป็นแบบแล้วก็ต้องให้ได้ตามนั้น ขออนุญาตแล้วก็ผ่าน ก่อสร้างจริงก็ได้ตามที่โม้ไป เพราะจริงๆ แล้วมันคือแบบเดียว ก็คือ แบบที่นำเสนอเจ้าของบ้านไป ไม่ผิดกฏหมาย อยู่สบาย และสร้างได้จริงตามที่เสนอไปครับ(ควรขอดูผลงานเก่าๆ และพิจารณาก่อนตัดสินใจว่าจ้าง) ส่วนรายละเอียดก็ขึ้นอยู่กับสถาปนิกแต่ละท่านครับว่าจะมีการบริหารจัดการการทำงานอย่างไรทั้ง เวลา ค่าตอบแทน และความพึงพอใจในการทำงานร่วมกันกับผู้ว่าจ้าง
...สำหรับบทความนี้คงจะจบลงเพียงเท่านี้ หวังว่าจะมีประโยชน์กับผู้ที่กำลังหาข้อมูลในการสร้างบ้าน สร้างฝัน และหากมีข้อเสนอแนะ ติชม ท่านสามารถเสนอแนะเราได้เลย ที่ www.pilasterstudio.comหรือ ทางเฟสบุค: @pilasterstudio หรือ line id: pilasterstudio
ขอบพระคุณอย่างสูงและพบกันใหม่ครับ
Comments